บพท. เดินหน้าสานพลังความรู้ พลังภาคี บูรณาการความรู้ ประสบการณ์และความร่วมมือ    พหุภาคี สกัดเป็นชุดความรู้ที่ใช้แก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน ส่งต่อให้รัฐบาลและรัฐสภา ใช้กำหนดนโยบายและมาตรการแก้จนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ เพื่อพาคนจนหลุดพ้นบ่วงความจน

ดร.กิตติ  สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านวิจัยระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่างานสัมมนาพหุภาคี “สู้ชนะความจน บนฐานพลังความรู้ พลังภาคี” ซึ่งร่วมจัดกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว เป็นงานที่มุ่งบูรณาการความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนความร่วมมือจากพหุภาคี เพื่อพาประเทศออกจากหลุมดำของความยากจน และเพื่อตอบโจทย์วาระระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) 17 ประการ  ที่มีประเด็นเรื่องกำจัดความยากจน และกำจัดความหิวโหย รวมอยู่ด้วย

“ปัญหาความยากจน เป็นปัญหาใหญ่ที่กัดกร่อนรากฐานความมั่นคงของสังคมไทยมายาวนาน และปัจจุบันนี้ข้อมูลคนจนจากระบบ TPMAP ณ วันที่ 3 ม.ค. 2565 บ่งชี้ว่ามีคนจนกระจายตัวอยู่ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมกัน 1,025,782 คน  ขณะที่คนจนในระบบข้อมูลครัวเรือนยากจน (Practical Poverty Provincial Connext-PPPConnext) ณ วันที่ 13 มิ.ย. 2566 พบว่ามีจำนวนคนจนในพื้นที่ 20 จังหวัดคือแม่ฮ่องสอน ลำปาง พิษณุโลก เลย สกลนคร มุกดาหาร ศรีสะเกษ นครราชสีมา อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธ์ุ ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยนาท พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมกันจำนวน 1,039,584 คน ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขให้ได้แบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ด้วยการสานพลังความรู้จากงานวิจัย เข้ากับพลังความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ-ชุมชน-เอกชน-สถาบันการศึกษา หรือแม้กระทั่งองค์กรทางศาสนา ภายใต้กลไกกระบวนการที่มีการออกแบบและขับเคลื่อนร่วมกัน”

ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวต่อไปว่าในงานสัมมนาพหุภาคีดังกล่าว มีการนำเสนอชุดข้อมูลสะท้อนปัญหาความยากจน ชุดความรู้โมเดลแก้จน ที่ผ่านการพิสูจน์ประสิทธิผลการแก้ปัญหาความยากจนมาแล้วในพื้นที่นำร่อง 20 จังหวัดครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศ และชุดประสบการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ปัญหาความยากจน รวมทั้งชุดมาตรการที่จะเป็นแนวทางขยายผลต่อยอดความร่วมมือ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน

“ตลอด 1 วันของงานสัมมนาพหุภาคี จะมีผู้ทรงคุณวุฒิที่ถึงพร้อมด้วยข้อมูล ความรู้และประสบการณ์แก้ปัญหาความยากจน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน อาทิ คุณกอบศักดิ์  ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันทำหน้าที่ประธานสภานักธุรกิจตลาดทุนไทย ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ คุณเอ็นนู  ซื่อสุวรรณ กรรมการ        สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น”

ดร.กิตติ กล่าวถึงความคาดหวังของการจัดสัมมนาพหุภาคีว่า บพท.จะทำหน้าที่ประมวลข้อมูลความรู้ ประสบการณ์ ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารภาคราชการ  ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนสื่อมวลชน พัฒนาเป็นชุดข้อมูลแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำที่สอดคล้องกับบริบทภูมินิเวศน์ และภูมิสังคม นำเสนอให้รัฐบาล และรัฐสภา สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย และแนวทางมาตรการแก้ปัญหาความยากจนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

https://www.kaosanonline.com/?p=34351

By admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *