สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA จัดกิจกรรม  ภายใต้หัวข้อ “ARDA’s Agricultural Innovations to Enhance Sustainable Quality Production – เปิดเทคโนโลยีเกษตรจาก ARDA เพิ่มผลผลิตคุณภาพอย่างยั่งยืน”  ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจันทบุรี เยี่ยมชม 2 นวัตกรรมเกษตรแม่นยำ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก ARDA “เครื่องหยอด–ปลิดฝักถั่วลิสง” นวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตรช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนพันธุ์ และผลผลิตเสียหายระหว่างเก็บเกี่ยว และ “เครื่องสแกนทุเรียน” จุดเปลี่ยนสำคัญของวงการผลไม้ไทย ใช้เทคโนโลยีคัดเนื้อในทุเรียนคุณภาพรู้ผลใน 3 วินาที โชว์ Kickoff นำร่องใช้งานจริงครั้งแรกในล้งทุเรียนจังหวัดจันทบุรี

นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤตแรงงานขาดแคลน ต้นทุนสูง และตลาดโลกที่เรียกร้อง “คุณภาพ” มากกว่า “ปริมาณ” ภาคการเกษตรไทยกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เพียงแค่แนวคิด แต่กำลังเกิดขึ้นจริงผ่านนวัตกรรมที่ “จับต้องได้” ARDA  หน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยในระบบ ววน. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการบริหารงานวิจัยการเกษตรใหญ่ที่สุดของประเทศ มีนโยบายขับเคลื่อนการทำเกษตรดั้งเดิมสู่ “เกษตรสมัยใหม่” โดยพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร (AgriTech) เช่น เกษตรแม่นยำ เกษตรอัจฉริยะ มาร่วมยกระดับภาคการเกษตรไทย ให้ตอบสนองความต้องการของตลาดโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร ควบคู่ไปกับการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร  โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้. ผู้บริหาร พร้อมคณะทำงาน ของ ARDA ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชม 2 ผลงานของ ARDA ได้แก่ “เครื่องหยอด–ปลิดฝักถั่วลิสง”  และ “เครื่องสแกนทุเรียน CT-Scan” ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตภาคการเกษตรไทยให้พร้อมแข่งขันในตลาดโลก  

โดยนวัตกรรมแรก ที่ได้ไปเยี่ยมชม คือ เครื่องหยอด–ปลิดฝักถั่วลิสง : เครื่องจักรกลการเกษตรต้นแบบฝีมือไทย พลิกโฉมการผลิตถั่วลิสง 1 ไร่  ปลูก 40,000 ต้น ภายใน 1 ชม. เพิ่มผลผลิต 30% ลดต้นทุนแรงงานจาก 12 คน เหลือเพียง 3 คน/ไร่  ทั้งนี้ประเทศไทยบริโภคถั่วลิสงมากถึง 112,000 ตัน/ปี แต่สามารถผลิตได้เองเพียง 26,000 ตัน/ปี โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมอาหารและขนมขบเคี้ยวซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าส่งผลให้มีต้นทุนสูงขื้น เนื่องจากเกษตรกรขาดแรงจูงใจในการปลูก ทำให้ประเทศมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารโดยเฉพาะโปรตีนจากพืชที่เป็นที่ต้องการทั่วโลก ARDA จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับบริษัท ตั้งเซียะปิงโลหะกิจ จำกัด เพื่อดำเนินโครงการ “การพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับการผลิตถั่วลิสง (เครื่องปลูก,เครื่องปลิด)” โดยมีนายไชยวัฒน์ เพชรโลหะกุล รองกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ เป็นหัวหน้า    

 

โดยโครงการฯ ดำเนินการร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาเครื่องปลูกและเครื่องปลิดถั่วลิสงต้นแบบขนาดไม่เกิน 50 แรงม้า ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถปลูกและเก็บเกี่ยวถั่วลิสงได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ โดยเครื่องหยอดถั่วลิสง ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ปลูกได้ถึง 40,000 ต้น/ไร่ จากเดิมที่ทำได้เพียง 30,000 ต้น สามารถทำงานต่อเนื่องได้ 8-10 ไร่/วัน มีความแม่นยำในการหยอดเมล็ดต่อหลุมและสามารถปิดกลบหน้าดินได้ความลึกเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของถั่วลิสง ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 350-400 กิโลกรัม/ไร่ ด้านเครื่องปลิดฝักถั่วลิสงต้นแบบ เกิดขึ้นจากเดิม เครื่องที่เกษตรกรใช้ปัจจุบันมีขนาดใหญ่ขาดความคล่องตัวขณะใช้งาน และผลผลิตได้รับความเสียหายจากการปลิดฝักถั่ว ทางโครงการฯ จึงได้พัฒนาต้นแบบเครื่องปลิดฝักถั่วลิสงแบบต่อพ่วงรถแทรกเตอร์ที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรรายย่อย มีขนาดกะทัดรัดขึ้น ช่วยลดความเสียหายของผลผลิตจาก 30% เหลือต่ำกว่า 10% ที่สำคัญได้มีการทดสอบการใช้งานจริงในพื้นที่เพาะปลูกถั่วลิสงของเกษตรกรกว่า 10,000 ไร่  พบว่าสามารถลดการใช้แรงงานคนจาก 12 คน/ไร่ เหลือเพียง 3 คน/ ไร่ ช่วยลดต้นทุนด้านการเก็บเกี่ยวลงได้ถึง 60% ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรสูงวัย รวมถึงพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ที่จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะในสินค้าที่มีศักยภาพด้านการส่งออกและความต้องการในตลาดสูงอย่างถั่วลิสง 

 

ส่วนอีกหนึ่ง นวัตกรรมเทคโนโลยีไฮไลท์  ก็คือ เครื่อง CT-Scan จุดเปลี่ยนยกระดับมาตรฐานทุเรียนไทย ตรวจทุเรียนอ่อน – แก่ – หนอน  แม่นยำ 95%  รู้ผลใน 3 วินาที โชว์ Kickoff ใช้งานจริงในล้งทุเรียนครั้งแรกของประเทศ    ซึ่งปัจจุบันถึงแม้ประเทศไทยจะยังเป็น ราชาแห่งทุเรียนส่งออก มากกว่า 800,000 ตันต่อปี สร้างรายได้กว่า 150,000 ล้านบาท แต่คำถามสำคัญคือ “เราจะรักษาตำแหน่งนี้ได้นานแค่ไหน?” เมื่อปัญหาทุเรียนอ่อน หนอนเจาะเมล็ด และเนื้อตกเกรด ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างจีน                                                                                                     

 

ARDA จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อดำเนินโครงการ “การออกแบบเครื่องคัดแยกความอ่อน-แก่ และหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนด้วยเทคนิค CT-Scan ร่วมกับการประมวลผลผ่านโครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก” โดยมี รศ.ดร.ชาญชัย  ทองโสภา เป็นหัวหน้าโครงการฯ โดยนำเครื่อง CT-Scan ตกรุ่นปลดระวางจากบริษัทเอกชนที่ให้บริการด้านเครื่องมือแพทย์  มาพัฒนาเป็นเครื่องต้นแบบสำหรับตรวจสอบความอ่อน – แก่ และหนอนในทุเรียนได้อย่างชัดเจนด้วยเทคนิค CT-Scan  ที่สามารถสแกนภาพทุเรียนด้วยความละเอียดสูง โดยแต่ละเฟรมจะแสดงค่า CT-Numbers ที่บ่งบอกถึงความหนาแน่นของเนื้อทุเรียน ทำให้ตรวจสอบคุณภาพภายในผลทุเรียนโดยไม่ต้องผ่าและใช้เวลาสแกนเพียง 3 วินาที หรือ 1,200 ลูก/ชั่วโมง และด้วยระบบ AI ที่พัฒนาขึ้นเฉพาะให้ทำงานร่วมกันจะช่วยประมวลผลแยกความอ่อน–แก่ ตรวจหาหนอน ได้แม่นยำถึง 95% รวมถึงสามารถตรวจพบเนื้อที่มีความผิดปกติ เช่น เนื้อเต่าเผา เนื้อลายเสือ เป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายให้ทุเรียนไทย 100 % ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับได้                                                         

 

ปัจจุบันเครื่องสแกนทุเรียนได้ผ่านการทดสอบจากห้องทดลองเรียบร้อยแล้ว ในวันนี้ทาง ARDA และคณะวิจัยฯ ได้นำเครื่องดังกล่าวมาติดตั้งและนำร่องใช้เป็นครั้งแรกในล้งทุเรียนบริษัท เอ็นทีเอฟ อินเตอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  ต. สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โดย“งานวิจัยของ ARDA ทุกชิ้นจะต้องถูกนำไปทดลองใช้จริงในพื้นที่กับกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ เพราะเป้าหมายของเราคือการทำให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการนำไปใช้ได้จริง เกษตรไทยต้องไปต่อได้ งานวิจัยจะไม่อยู่บนหิ้งหรือหยุดอยู่ในห้องทดลอง…เครื่องหยอดและปลิดฝักถั่วลิสง รวมถึงเครื่องสแกนทุเรียน อาจเป็นเพียง 2 ตัวอย่างเล็ก ๆ แต่สะท้อนถึงความเป็นไปได้อันยิ่งใหญ่ของภาคเกษตรไทยในวันที่ความ “แม่นยำ” และ “ยั่งยืน” ถูกกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ และแน่นอนว่าในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความอยู่รอดไม่ได้วัดกันที่ใคร “ปลูกได้ปริมาณมากกว่า” แต่อยู่ที่ใคร “ปลูกได้คุณภาพดีกว่ากัน”  นางสาวศิริกรฯ กล่าวปิดท้าย//////////

https://www.kaosanonline.com/?p=78179

By admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *